ประวัติความเป็นมา
- หมวด: เกี่ยวกับ...จักรีรัช
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 31 สิงหาคม 2560 02:50
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 15569
ประวัติความเป็นมาของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ หมู่ ๓ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี บนเนื้อที่ ๔๐ ไร่ ๘๐.๘ ตารางวา เดิมชื่อโรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ราชบุรี ขึ้นกับศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต ๗ ราชบุรี เป็นสถาบันการศึกษาของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีกองอนามัยครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนกลาง ได้ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับศูนย์อนามัยแม่และเด็ก ภายในบริเวณเดียวกัน
โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ราชบุรี เริ่มรับนักศึกษารุ่นที่ ๑ เข้าศึกษา เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๓ เปิดเป็นแห่งที่ ๕ ของกรมอนามัย รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ ๓ (ม.๖ เดิม) เข้าศึกษาระยะเวลา ๑ ปี ๖ เดือน เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรผดุงครรภ์อนามัย ได้ใบประกอบโรคศิลปะ สาขาการผดุงครรภ์ชั้นสอง
พ.ศ.๒๕๒๖ ได้พัฒนาหลักสูตร โดยใช้ชื่อว่าหลักสูตรการสาธารณสุขชุมชน (ผดุงครรภ์อนามัย) ระยะเวลาเวลาศึกษา ๒ ปี
พ.ศ.๒๕๒๙ ศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต ๗ ราชบุรี เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารใหม่ เปลี่ยนชื่อจากศูนย์อนามัยแม่และเด็กเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต ๔ ราชบุรี โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย ราชบุรี เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ ราชบุรี เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๐ และในปีนี้กรมอนามัยได้พัฒนาหลักสูตรอีกครั้งหนึ่ง เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรการพยาบาลและการผดุงครรภ์ (ระดับต้น) ใช้ระยะเวลาการศึกษา ๒ ปี เริ่มสอนนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๐ โดยเพิ่มความรู้ให้ครอบคลุมงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ตลอดจนการสาธารณสุข มูลฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖
พ.ศ.๒๕๓๖ กระทรวงสาธารณสุขเห็นสมควรให้มีการรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตและการพัฒนาบุคลากรมาอยู่ด้วยกันเป็นสถาบันพระบรมราชชนก ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑ เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๒ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๖ ซึ่งมีหน้าที่หลัก คือ ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข
พ.ศ.๒๕๓๗ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ยกเว้นวิทยาลัยพยาบาลที่ได้รับพระราชทานชื่ออยู่ก่อนแล้วว่า “วิทยาลัยพยาบาล บรมราชชนนี” ดังนั้นวิทยาลัยพยาบาลและผดุงครรภ์ ราชบุรี จึงได้ชื่อที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า “วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี ๒” ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๗ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนพิเศษ ๓๖ง) และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้อักษร “พระนามย่อ” ของพระองค์เป็นตราประจำวิทยาลัย เนื่องจากจังหวัดราชบุรีมีวิทยาลัยพยาบาล ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ๒ วิทยาลัย การใช้ชื่อวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี ๑ และราชบุรี ๒ ทำให้ประชาชนและผู้มาติดต่อประสานงานสับสน วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี ๒ จึงได้ขอพระราชทานนามต่อท้ายใหม่และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามต่อท้ายว่า “จักรีรัช” อันมีความหมายว่า “รัชกาลแห่งพระราชวงศ์จักรี”วิทยาลัยฯจึงได้ชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช” เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๓ ตอนที่ ๗๒ง.
พ.ศ.๒๕๓๗ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ (ต่อเนื่อง ๒ ปี เทียบเท่าปริญญาตรี) โดยความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัย และในปี พ.ศ.๒๕๓๙ วิทยาลัยฯ ได้นำหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ (ต่อเนื่อง ๒ ปี เทียบเท่าปริญญาตรี) เข้าสมทบกับคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นพยาบาลศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง)
พ.ศ.๒๕๔๐ วิทยาลัยฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โดยความเห็นชอบจากทบวงมหาวิทยาลัย และได้นำหลักสูตรเข้าสมทบกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลให้บัณฑิตได้เข้ารับพระราชทานปริญญาพยาบาลศาสตรบัณฑิต เป็นรุ่นที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔
พ.ศ.๒๕๔๓ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช ได้ย้ายจากที่ตั้งเดิม ซึ่งอยู่ภายในบริเวณเดียวกับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ เขต ๔ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มาอยู่ ณ เลขที่ ๙๙ หมู่ ๓ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๓
พ.ศ.๒๕๔๕ วิทยาลัยฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ เทียบเท่าปริญญาตรี (ต่อเนื่อง ๒ ปี) ภาคพิเศษ เพิ่มขึ้นอีก ๑ หลักสูตร และเปิดสอนเพียง ๑ รุ่น
พ.ศ.๒๕๖๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันพระบรมราชชนกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้นไว้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๔๓ก วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๒ ให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข